ข้อบังคับสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2554

หมวดที่ 1 ข้อความทั่วไป

ข้อ 1   ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2554 ”

ข้อ  2  ให้เริ่มใช้ข้อบังคับนี้ตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการเป็นต้นไป

ข้อ 3  ให้ยกเลิกข้อบังคับสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2546 ทั้งฉบับแล้วให้ใช้ข้อบังคับสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม  พ.ศ. 2554 นี้แทน

ข้อ 4  คำว่าสมาคมต่อไปในข้อบังคับนี้ให้หมายความถึง สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ

ข้อ 5  ชื่อของสมาคม สมาคมนี้มีชื่อว่า  “สมาคมศิษย์เก่าโรเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ”  

อักษรย่อ  (สศก.)  เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Bangkok School For The Blind Alumni Association” อักษรย่อ BSAA.

ข้อ  6  เครื่องหมายของสมาคมและความหมายของเครื่องหมายสมาคม

6.1   เครื่องหมายของสมาคม เป็นรูปดาว  มีอักษร GC อยู่ตรงกลาง อยู่ภายในวงกลม 2 ชั้น ภายในวงกลมด้านบนมีชื่อสมาคม เป็นภาษาไทยโค้งตามเส้นวงกลม ภายในวงกลมด้านล่างมีชื่อสมาคม เป็นภาษาอังกฤษ โค้งตามเส้นวงกลม

6.2 ความหมายของเครื่องหมายสมาคม 

ดาว  หมายถึง  แสงสว่างในเวลากลางคืน  สิ่งที่ทำลายอุปสรรคในความมืด

อักษร GC หมายถึง  อักษรนำหน้าชื่อของมิสเจนีวีฟ  คอลฟีลด์  สตรีตาบอดชาวอเมริกัน ผู้บุกเบิกการศึกษาของคนตาบอดในประเทศไทยเปรียบเสมือนผู้ให้แสงสว่างแก่คนตาบอดกรอบวงกลม 2 ชั้น  หมายถึง  ขอบเขตหรือกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง

ข้อ 7  ที่ตั้งสำนักงานของสมาคม  สมาคมตั้งอยู่  ณ เลขที่  27/9 หมู่ 5 ซอยพหลโยธิน 54 แขวงคลองถนน  เขตสายไหม  กรุงเทพฯ 10220  

หมวดที่ 2 วัตถุประสงค์

ข้อ 8  สมาคมนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ

8.1 จัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงมิสเจนีวีฟคอลฟีลด์ ผู้ให้กำเนิดการศึกษาแก่คนตาบอดในประเทศไทย

8.2  ให้ความร่วมมือ และสร้างความสามัคคีระหว่างศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน

8.3  ส่งเสริม และสนับสนุนการศึกษาแก่สมาชิก และศิษย์ปัจจุบัน

8.4  เผยแพร่ความรู้  ข่าวสาร  และประสบการณ์ต่างๆ ให้แก่สมาชิก

8.5  ช่วยด้านสวัสดิการต่างๆ แก่สมาชิก

8.6 ส่งเสริมและสนับสนุนความก้าวหน้ารวมทั้งเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพในทุกด้าน

8.7 ให้ความร่วมมือแก่องค์กรการกุศลต่าง ๆ ทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนที่ตั้งอยู่ภายในประเทศและต่างประเทศ

8.8 ไม่จัดตั้งโต๊ะบิลเลียดแต่อย่างใด

8.9  ส่งเสริมอาชีพในสาขาต่างๆแก่สมาชิกอย่างกว้างขวางรวมถึงอาชีพจำหน่ายสลากทุกประเภทที่สำนักงานสลาก  หรือรัฐบาลพิมพ์ออกจำหน่าย

หมวดที่ 3 สมาชิก

ข้อ 9 ประเภทและคุณสมบัติของสมาชิกสมาคม

9.1 ประเภทของสมาชิก  สมาชิกของสมาคมมี 3 ประเภท คือ

9.1.1 สมาชิกสามัญได้แก่ คนตาบอดทั้ง 2 ข้างที่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ

9.1.2 สมาชิกวิสามัญได้แก่ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ หรืออาสาสมัครที่ทำงานกับสมาคม ซึ่งคณะกรรมการบริหารสมาคม พิจารณารับเข้าเป็นสมาชิก

9.1.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติหรือทรงคุณวุฒิหรือผู้มีอุปการคุณแก่สมาคมซึ่งคณะกรรมการบริหารสมาคมมีมติให้ออกหนังสือเชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมและบุคคลนั้นมีหนังสือตอบรับคำเชิญ

9.2  คุณสมบัติของสมาชิกสามัญสมาชิกสามัญจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้

9.2.1  เคยผ่านการศึกษาจากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพอย่างน้อยหนึ่งปี

9.2.2  มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์นับถึงวันสมัคร

9.2.3  มีความประพฤติดี และประกอบอาชีพสุจริต

9.2.4 ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง และไม่เป็นคนวิกลจริต

9.2.5 ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายหรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถหรือต้องโทษจำคุกยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ

การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดในกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นในขณะที่สมัครเป็นสมาชิกหรือระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น

ข้อ.10. การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกสามัญของสมาคมยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมพร้อมค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมตลอดจนเอกสารหลักฐานประกอบการสมัครต่อนายทะเบียนหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมโดยให้มีสมาชิกสามัญของสมาคมรับรองอย่างน้อย 1 คน แล้วนายทะเบียนนำเอกสารการสมัครเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสมาคมเพื่อพิจารณาว่าจะรับหรือ ไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมโดยเร็ว

ถ้าคณะกรรมการบริหารสมาคมพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกได้ ก็ให้นายทะเบียนดำเนินการลงทะเบียนและออกบัตรประจำตัวสมาชิกซึ่งเป็นอันเริ่มต้นสมาชิกภาพแต่ถ้าคณะกรรมการบริหารสมาคมพิจารณาไม่รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมก็ให้เลขานุการทำหนังสือแจ้งให้ผู้สมัครทราบ พร้อมคืนค่าลงทะเบียน  ค่าบำรุง รวมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบการสมัครเป็นสมาชิกทั้งหมด

ข้อ 11  ค่าลงทะเบียน   ค่าบำรุงสมาคม  และการขาดส่งค่าบำรุงสมาคม

11.1 ค่าลงทะเบียนสมาชิกสามัญจะต้องชำระค่าลงทะเบียนในการสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมครั้งแรกคนละ 20 บาท

11.2  ค่าบำรุงสมาชิกสามัญ ต้องชำระค่าบำรุงสมาคม เป็นรายปี  ปีละ 30 บาทหรือตลอดชีพ 300 บาท

ในกรณีที่ชำระค่าบำรุงเป็นรายปีต้องชำระภายในเดือนเมษายนของทุกปี

11.3 การขาดส่งค่าบำรุงสมาชิกสามัญของสมาคมคนใดขาดส่งค่าบำรุงในปีใดก็ให้หมดสิทธิต่างๆที่จะได้รับตามข้อบังคับและระเบียบของสมาคม

11.4  สมาชิกวิสามัญ และสมาชิกกิตติมศักดิ์ไม่ต้องชำระค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคม

ข้อ 12  เอกสารหลักฐานประกอบการสมัครเป็นสมาชิกสามัญ

12.1  ใบสมัครตามแบบของสมาคม

12.2 สำเนาทะเบียนบ้าน  พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 2 ชุด

12.3  สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 2 ชุด

12.4  สำเนาบัตรประจำตัวคนพิการ    พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 2 ชุด

12.5  สำเนาทางการศึกษาที่แสดงว่าได้ผ่านการศึกษาจากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ อย่างน้อย 1 ปี  พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 2 ชุด

12.6  รูปถ่ายปัจจุบันหน้าตรงไม่สวมหมวก  ไม่ใส่แว่น ขนาด 1 นิ้ว พร้อมเขียนชื่อผู้สมัครไว้ด้านหลังรูป จำนวน 3 รูป

ข้อ 13  สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้

13.1  ตาย

13.2  ลาออก โดยยื่นหนังสือต่อนายทะเบียน หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม

13.3  ประพฤติตนเป็นที่เสื่อมเสียชื่อเสียงของสมาคม หรือเป็นที่รังเกียจแก่สังคม

13.4  ขาดคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในข้อ 9.2

ข้อ 14  สิทธิของสมาชิก

14.1    ในฐานะสมาชิกสามัญ

14.1.1  ลงสมัครรับเลือกตั้งได้รับเลือกตั้งหรือได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการบริหารของสมาคม

14.1.2  ออกเสียงได้คนละหนึ่งคะแนนทุกครั้งที่มีการลงคะแนน (ห้ามออกเสียงแทนกัน)

14.1.3  เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคม เมื่อเป็นสมาชิกสามัญของสมาคมครบ 45 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

14.1.4      ขอตรวจสอบการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารสมาคมได้โดยลงลายมือชื่อร่วมกันอย่างน้อย30 คน ซึ่งต้องยื่นคำขอเป็นลายลักษณ์อักษรต่อนายกสมาคม ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนการดำเนินการตรวจสอบ

14.1.5  ขอเปิดอภิปรายทั่วไปหรือเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะกรรมการบริหารสมาคมทั้งคณะหรือเป็นรายบุคคลได้ทุกครั้งที่มีการประชุมสมาชิกโดยยื่นคำขอเป็นลายลักษณ์อักษรต่อนายกสมาคมซึ่งต้องมีสมาชิกสามัญลงลายมือชื่อร่วมกันอย่างน้อยหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมดหรือหนึ่งร้อยคน

14.1.6  ขอเปิดประชุมวิสามัญได้โดยการลงลายมือชื่อร่วมกันอย่างน้อยหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมด หรือ 100 คนร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษรต่อนายกสมาคม

14.1.7      ได้รับสวัสดิการจากสมาคมอย่างเสมอภาคกันทั้งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สมาคม กำหนดขึ้น

14.2 ในฐานะสมาชิกทุกประเภท

14.2.1 แสดงความคิดเห็นหรือตั้งกระทู้ถามในเรื่องเกี่ยวกับกิจการของสมาคมหรือสิทธิและหน้าที่ของสมาชิก โดยยื่นก่อนมีการประชุมอย่างน้อย3วันเว้นแต่เป็นกรณีฉุกเฉินหรือคณะกรรมการบริหารยินดีตอบแม้ยื่นในวันประชุม

14.2.2 ใช้สถานที่ของสมาคมได้ในเวลาที่เหมาะสมเพื่อกิจการที่ชอบด้วยวัตถุประสงค์และระเบียบการใช้อาคาร สถานที่

ข้อ 15  หน้าที่ของสมาชิกสามัญ

15.1  ปฏิบัติตามข้อบังคับระเบียบและประกาศของสมาคมที่กำหนดขึ้น

15.2 ให้ความร่วมมือและสนับสนุนกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

15.3  เผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคม ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

15.4  เข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี

ในกรณีที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปีได้ต้องยื่นหนังสือลาประชุมล่วงหน้าต่อนายกสมาคมอย่างน้อย 15 วัน ก่อนการประชุม เว้นแต่มีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ให้ยื่นหนังสือลาประชุมต่อนายกสมาคมภายใน  7 วัน หลังจากวันประชุม

หมวดที่ 4 การบริหารสมาคม

ข้อ 16 ให้มีคณะบุคคลคณะหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกสามัญของสมาคมโดยมาจากการเลือกตั้ง ทำหน้าที่เป็น

คณะกรรมการบริหารกิจการของสมาคม มีจำนวนอย่างน้อย 7 คน  แต่ไม่เกิน 15 คน  โดยมีตำแหน่งต่างๆ ดังต่อไปนี้ นายกสมาคม อุปนายก เลขานุการ  เหรัญญิก  นายทะเบียน ประชาสัมพันธ์ ปฏิคม และตำแหน่งต่างๆ ตามความจำเป็นอีกไม่เกิน 8 ตำแหน่ง

ข้อ 17 คณะกรรมการบริหารสมาคม ตามข้อ 16 ได้มาจากการเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากของสมาชิกที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งหรือที่ประชุมใหญ่ของสมาคม                                              

ข้อ 18  หน้าที่ของกรรมการบริหารสมาคมแต่ละตำแหน่ง

18.1 นายกสมาคม  มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

18.1.1 เป็นประธานในที่ประชุมใหญ่ของสมาคมที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมและควบคุมการประชุมดังกล่าว ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

18.1.2 ควบคุมดูแลการดำเนินงานของสมาคมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นไปตามวัตถุประสงค์

18.1.3 ลงลายมือชื่อในเอกสารต่างๆในนามของสมาคมตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสมาคม

18.1.4 ดำเนินการอื่นๆตามที่คณะกรรมการบริหารสมาคมมีมติให้ดำเนินการภายใต้ข้อบังคับและระเบียบต่างๆ ของสมาคม

18.2 อุปนายกมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

18.2.1   เป็นผู้ช่วยนายกสมาคม ในการบริหารกิจการของสมาคม

18.2.2  ปฏิบัติหน้าที่ตามที่นายกสมาคมมอบหมาย แต่ต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับและระเบียบต่างๆ ของสมาคม 

18.2.3 ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อตำแหน่งนายกสมาคมว่างลง การปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสมาคมให้อุปนายกสมาคมตามลำดับเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน     

18.2.4 ดำเนินการอื่นๆตามที่คณะกรรมการบริหารมีมติให้ดำเนินการภายใต้ข้อบังคับและระเบียบต่างๆของสมาคม 

18.2.5 ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกสมาคมภายใต้ข้อบังคับและระเบียบต่างๆของสมาคม 

18.3 เลขานุการ  มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

18.3.1 บริหารงานธุรการและงานบุคคลของสมาคมและปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคมตลอดจนเป็นเลขานุการสมาคมในที่ประชุมใหญ่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของสมาคมและจัดทำรายงานการประชุมดังกล่าวทุกครั้ง

18.3.2 แจ้งนัดประชุมไปยังสมาชิกหรือกรรมการบริหารสมาคมแล้วแต่กรณี

18.3.3 ดำเนินการอื่นๆตามที่คณะกรรมการบริหารมีมติให้ดำเนินการภายใต้ข้อบังคับและระเบียบต่างๆของสมาคม 

18.3.4 ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกสมาคมภายใต้ข้อบังคับและระเบียบต่างๆของสมาคม 

18.4  เหรัญญิก มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

18.4.1  ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับรายงานการเงินทั้งหมดของสมาคม

18.4.2 จัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย บัญชีทรัพย์สิน และงบดุลของสมาคม

18.4.3  เก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเงินของสมาคม ไว้เพื่อการตรวจสอบ

18.4.4  ควบคุม ดูแล ตรวจสอบ การรับ จ่าย การเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของสมาคมฯ ให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย

18.4.5 ดำเนินการอื่นๆตามที่คณะกรรมการบริหารมีมติให้ดำเนินการภายใต้ข้อบังคับและระเบียบต่างๆ ของสมาคม 

18.4.6 ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกสมาคม  ภายใต้ข้อบังคับและระเบียบต่างๆ ของสมาคม 

18.5  นายทะเบียน  มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

18.5.1 จัดทำทะเบียนสมาชิกสมาคมให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

18.5.2 ประสานงานกับเหรัญญิกสมาคมฯ ในการเรียกเก็บเงินค่าลงทะเบียนเงินค่าบำรุงสมาคม  จากสมาชิก

18.5.3 ดำเนินการอื่นๆตามที่คณะกรรมการบริหารมีมติให้ดำเนินการภายใต้ข้อบังคับและระเบียบต่างๆ ของสมาคม 

18.5.4 ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกสมาคม  ภายใต้ข้อบังคับและระเบียบต่างๆ ของสมาคม 

18.6 ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

18.6.1 เผยแพร่กิจกรรม ชื่อเสียง เกียรติคุณของสมาคม ให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปให้เป็นที่ รู้จักอย่างแพร่หลาย

18.6.2 ดำเนินการอื่นๆตามที่คณะกรรมการบริหารมีมติให้ดำเนินการภายใต้ข้อบังคับและระเบียบต่างๆ ของสมาคม 

18.6.3 ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกสมาคม  ภายใต้ข้อบังคับและระเบียบต่างๆ ของสมาคม 

18.7  ปฏิคม  มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

18.7.1 ให้การต้อนรับสมาชิกที่มาประชุม และผู้มาติดต่อสมาคม

18.7.2  จัดเตรียมสถานที่ประชุมต่างๆ ของสมาคม

18.7.3 ดูแลความเรียบร้อยของอาคารสำนักงานสมาคม

18.7.4 ดำเนินการอื่นๆตามที่คณะกรรมการบริหารมีมติให้ดำเนินการภายใต้ข้อบังคับและระเบียบต่างๆ ของสมาคม 

18.7.5 ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกสมาคม  ภายใต้ข้อบังคับและระเบียบต่างๆ ของสมาคม 

18.8 กรรมการบริหารถ้ามิได้ระบุตำแหน่งก็ให้ถือว่าเป็นกรรมการกลางมีหน้าที่ดำเนินการอื่นๆตามที่คณะกรรมการบริหารสมาคมมีมติให้ดำเนินการภายใต้ข้อบังคับและระเบียบต่างๆของสมาคมและปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกสมาคม ภายใต้ข้อบังคับและระเบียบต่างๆ ของสมาคม 

ข้อ  19  คุณสมบัติของคณะกรรมการบริหารสมาคม

19.1        ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกสมาคมต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

19.1.1     ต้องเป็นสมาชิกสามัญของสมาคมมาแล้วไม่น้อยกว่า/2ปี

19.1.2     อายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

19.1.3     สำเร็จการศึกษาไม่น้อยกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า

19.1.4     ต้องไม่มีหนี้สินค้างชำระอยู่กับสมาคม

19.1.5     สามารถใช้อักษรเบรลล์เพื่อการสื่อสารได้

19.2        ผู้ที่จะเป็นกรรมการต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

19.1.1     ต้องเป็นสมาชิกสามัญของสมาคมไม่น้อยกว่า  1  ปี ขึ้นไป

19.1.2      มีอายุตั้งแต่  20  ปี ขึ้นไป

19.2.3     สำเร็จการศึกษาไม่น้อยกว่ามัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่า

19.2.4     ต้องไม่มีหนี้สินค้างชำระอยู่กับสมาคม

19.2.5     สามารถใช้อักษรเบรลล์เพื่อการสื่อสารได้

ข้อ 20 คณะกรรมการของสมาคมอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี สำหรับตำแหน่งนายกสมาคม มีสิทธิ์ได้รับเลือกตั้งติดต่อกันไม่เกิน 2 สมัย ซึ่งในการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการบริหารนั้นให้นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นต้นไป 

เมื่อคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระหรือพ้นวาระตามข้อ 21 ให้จัดการเลือกตั้งภายใน 60 วันนับแต่วันที่พ้นวาระ หรือวันที่คณะกรรมการพ้นจากตำแหน่ง

เมื่อที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่แล้ว  จะต้องทำการยื่นขออนุญาตจดทะเบียนคณะกรรมการต่อทางราชการภายใน 30 วัน นับจากวันเลือกตั้ง 

ในระหว่างที่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการก็ให้คณะกรรมการชุดเก่ารักษาการไปพลางก่อนจนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ

เมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่าและคณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ

ข้อ 21  กรรมการบริหารสมาคมอาจพ้นจากตำแหน่งซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุต่อไปนี้  คือ

21.1        ตาย

21.2        ลาออก โดยยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการบริหารมีมติให้ออก 

21.3        ขาดจากสมาชิกภาพ

21.4        โดยมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร

21.5        ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง

ข้อ 22 ตำแหน่งกรรมการสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลง แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวารของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น

ข้อ 23 ในกรณีที่นายกสมคม พ้นจากตำแหน่งตามข้อ 20 ให้ถือว่าคณะกรรมการบริหารชุดนั้นพ้นสภาพและให้อุปนายกสมาคม เป็นผู้รักษาการแทนพร้อมจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อมคณะกรรมการบริหารทั้งคณะภายใน 60 วันนับจากวันที่นายกสมาคมพ้นจากตำแหน่งและคณะกรรมการบริหารที่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนั้นจะดำรงตำแหน่งได้เท่ากับระยะเวลาของคณะกรรมการบริหารชุดที่ตนแทนเท่านั้น  เว้นแต่วาระการบริหารงานเหลือไม่ถึง 180 วัน ก็ไม่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อม

ข้อ  24.  อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารสมาคม

24.1 มีอำนาจออกระเบียบ ประกาศ คำสั่งเพื่อการบริหารกิจการของสมาคม แต่ต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้

24.2  มีอำนาจแต่งตั้ง และ ถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม เมื่อกระทำความผิดต่อหน้าที่ หรือ ไม่สนองต่อนโยบายของคณะกรรมการบริหารสมาคม

24.3  มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการ ที่ปรึกษา  หรืออนุกรรมการได้  แต่กรรมการ ที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง

24.4  มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี  และประชุมใหญ่วิสามัญ

24.5  มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ  ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้

24.6  มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม  เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์  ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

24.7  มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด  รวมทั้งการเงินและทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม

24.8  มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญตามที่สมาชิกสามัญจำนวน  1  ใน  5  ของสมาชิกสามัญทั้งหมด  หรือ สมาชิกสามัญ จำนวน 100 คน ได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น  ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน  30  วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ

24.9  มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน  ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรม

ต่าง ๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและสามารถจัดให้สมาชิกตรวจสอบได้เมื่อสมาชิกร้องขอ

24.10 มีหน้าที่จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิกได้รับทราบ

24.11 มีหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

ข้อ  25.  คณะกรรมการบริหารสมาคมจะต้องประชุมกันอย่างน้อย เดือนละ  1  ครั้ง ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม

การประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม  จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด  จึงจะถือว่าเป็นองค์ประชุม แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมถ้ากรรมการมาไม่ครบองค์ประชุมให้เรียกประชุมใหม่ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการนัดประชุมครั้งแรก ซึ่งในครั้งนี้ถ้ามีกรรมการมาประชุม 1 ใน 3 ก็ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุมได้

มติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม  ถ้าข้อบังคับหรือระเบียบของสมาคมมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ โดยประธานในที่ประชุมต้องวางตัวเป็นกลาง  แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด  

ข้อ  26.  ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม  หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้  ก็ให้คณะกรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง  เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ 5 การประชุมใหญ่

ข้อ 27  การประชุมใหญ่ของสมาคมฯ มี 2 ประเภทคือ

27.1  ประชุมใหญ่สามัญ

27.2  ประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ 28   คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญปีละ 1 ครั้งภายในเดือนพฤษภาคมของทุกปี

ข้อ 29  การประชุมใหญ่วิสามัญ  อาจจะมีขึ้นได้โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้น  หรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่า 1  ใน 5  ของสมาชิกสามัญทั้งหมด หรือสมาชิกสามัญ จำนวน 100 คน ร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดให้มีขึ้น

ข้อ 30 การแจ้งกำหนดการประชุมใหญ่ ให้เลขานุการทำหนังสือแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกทราบ ถึง  วัน  เวลา  สถานที่และระเบียบวาระการประชุม พร้อมทั้งเอกสารประกอบการประชุมให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า  7  วัน ก่อนถึงวันประชุมใหญ่

ข้อ 31 การประชุมใหญ่สามัญประจำปี  จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้

31.1        เรื่องแจ้งเพื่อทราบ

31.2        รับรองรายงานการประชุม

31.3        แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี

31.4        แถลงบัญชีรายรับ  รายจ่าย บัญชีทรัพย์สิน และงบดุลประจำปีให้สมาชิกรับทราบ

31.5        เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่ เมื่อครบกำหนดตามวาระ

31.6        เลือกตั้งผู้สอบบัญชี

31.7        เรื่องอื่นๆ ( ถ้ามี )

ข้อ 32  การประชุมใหญ่สามัญประจำปี  หรือการประชุมใหญ่วิสามัญ จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมดจึงจะถือว่าครบองค์ประชุม

เมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมแล้ว  แต่ยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการของสมาคมเรียกประชุมใหม่อีกครั้ง  โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน 14 วัน นับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก  สำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้มีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใดก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม

เว้นแต่เป็นการประชุมใหญ่วิสามัญซึ่งเกิดจากการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิก  ถ้ามีสมาชิกสามัญมาร่วมประชุมไม่ถึงจำนวนกึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด   ก็ไม่ต้องจัดการประชุมให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก

ข้อ 33.  มติของที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับหรือระเบียบของสมาคมมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ โดยประธานในที่ประชุมต้องวางตัวเป็นกลาง  แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด  

ข้อ 34. ในการประชุมใหญ่ของสมาคมถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้   ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกกรรมการบริหารสมาคมที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่  6 การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ 35.  การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารสมาคม  เงินสดของสมาคมถ้ามีให้นำฝากไว้ที่ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินในนามสมาคม โดยให้นายกสมาคมลงลายมือชื่อร่วมกับเหรัญญิก  และ เลขานุการ  การเบิกถอนให้กระทำได้โดยลงลายมือชื่อ  2  ใน  3  ของผู้เปิดบัญชีพร้อมตราประทับสมาคม

ข้อ 36.  การลงนามในตั๋วแลกเงิน เช็คหรือเอกสารทางการเงินอื่นๆ ของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือผู้กระทำการแทน ลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือ เลขานุการ พร้อมกับประทับตราของสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้

ข้อ 37.  ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินโดยได้รับความเห็นชอบจากเลขานุการและเหรัญญิก  เพื่อใช้ในกิจการของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 30,000  บาท (สามหมื่นบาทถ้วน)  ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ  และ คณะกรรมการจะอนุมัติให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน  200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) ถ้าจำเป็นต้องจ่ายเกินกว่านี้ ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม  เว้นแต่เป็นการจ่ายเงินที่กำหนดไว้ในโครงการของสมาคม  ก็ให้เป็นไปตามรายจ่ายที่กำหนดไว้ตามโครงการนั้น ๆ

ข้อ 38.  ให้เหรัญญิก มีอำนาจในการเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน 50,000  บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)ถ้าเกิน

กว่าจำนวนนี้จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 15 วันทำการ

ข้อ 39.  เหรัญญิก จะต้องทำบัญชีรายรับ  รายจ่าย บัญชีทรัพย์สิน เพื่อรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมและที่ประชุมใหญ่พร้อมทั้งเสนอให้ผู้สอบบัญชีของสมาคมพิจารณาจัดทำงบดุลประจำปี  ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ 

การรับหรือการจ่ายทุกครั้ง  จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิกหรือผู้ทำการแทน พร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง

ข้อ 40.  ผู้สอบบัญชี จะต้องมิใช่กรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย

ข้อ 41.  ผู้สอบบัญชี มีอำนาจเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการและสามารถจะเชิญกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม เพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้

ข้อ 42.  คณะกรรมการบริหารสมาคมจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชีเมื่อได้รับการร้องขอ

การเบิกจ่ายเงินในธนาคาร หรือการทำนิติกรรมอื่นใด นายก  เลขานุการ  เหรัญญิกลงลายมือชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 พร้อมตราประทับ จึงจะสมบูรณ์

หมวดที่ 7 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ 43.  ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น  และองค์ประชุมจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด   มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ   จะต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่า 2  ใน  3  ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด

ข้อ 44.  การเลิกสมาคมจะเลิกได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม  ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย  มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า  3  ใน  4  ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด  และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด

ข้อ  45.  เมื่อสมาคมต้องเลิกไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม  ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่  หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ให้ตกเป็นของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อใช้ในกิจการที่เป็นประโยชน์ของโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ

บทเฉพาะกาล

ข้อ 46.  ห้ามมิให้นำ ข้อ 20 วรรคหนึ่ง แห่งข้อบังคับฉบับนี้มาบังคับใช้กับคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดปัจจุบันจนกว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดต่อไป

ข้อ 47.  ให้นายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ เป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับฉบับนี้

 

ลงชื่อ.......................................

(   นายวิรัช  สุขเจริญ   )

ผู้จัดทำข้อบังคับ