ระเบียบบริหารงานบุคคล

ระเบียบสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ
ว่าด้วย
การบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2553
โดยที่เป็นการสมควรให้การบริหารงานบุคคลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด ตลอดจนให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงาน  คณะกรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ  จึงได้ออกระเบียบนี้ขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ และคณะกรรมการบริหารได้ถือปฏิบัติ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2553”
ข้อ 2. ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ 3. ให้ยกเลิกบรรดาระเบียบ  กฎ คำสั่ง มติที่ประชุมคณะกรรมการ หรือประกาศ ที่เกี่ยวกับ
การบริหารงานบุคคลของสมาคมฯ ที่ใช้บังคับก่อนหน้านี้ทุกฉบับ  แล้วให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ 4. ในระเบียบนี้
-  สมาคม   หมายถึง สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ
- กรรมการ   หมายถึง กรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ
- เจ้าหน้าที่   หมายถึง เจ้าหน้าที่ของสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ
ข้อ 5. ประเภทของเจ้าหน้าที่  เจ้าหน้าที่ของสมาคมแบ่งออกเป็น 3 ประเภท  คือ
5.1 เจ้าหน้าที่ประจำ หมายถึง เจ้าหน้าที่ที่คณะกรรมการบริหารมีมติให้จัดจ้าง โดยผ่าน การทดลองงานตามเกณฑ์ของระเบียบนี้แล้ว ซึ่งสมาคมได้ทำสัญญาจ้างเป็นรายปี หรือคณะกรรมการบริหารมีมติบรรจุให้เป็นเจ้าหน้าที่ประจำ
5.2 เจ้าหน้าที่ชั่วคราว  หมายถึง เจ้าหน้าที่ที่ทางสมาคมตกลงจ้างให้ทำงานเป็นครั้ง คราวหรือตามกำหนดระยะเวลาของโครงการ  รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ทางสมาคมตกลงจ้างให้ทำงานติดต่อกันไม่เกิน 120 วัน หรือเจ้าหน้าที่ ที่สมาคมจัดจ้างเป็นรายวัน
5.3 เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร  หมายถึง  เจ้าหน้าที่ที่สมาคมอนุญาตหรือเชิญมาทำงานของ สมาคมโดยไม่รับค่าตอบแทน
ข้อ 6. การกำหนดลักษณะ  ปริมาณงาน  และคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่  เมื่อมีความจำเป็นต้อง
บรรจุเจ้าหน้าที่ตามแผนงานของสมาคมฯ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเสนอปริมาณงานและคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่
ที่ต้องการ เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติ
ข้อ 7. การจัดหาเจ้าหน้าที่   ให้คณะกรรมการกำหนดวิธีการจัดหาเจ้าหน้าที่ตามที่ได้
พิจารณาปริมาณงานและคุณสมบัติ (ตามข้อ 6) โดยมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
7.1 พิจารณาปรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของสมาคมที่มีอยู่แล้วให้เหมาะสมกับงานที่ปฏิบัติ
7.2 ประกาศรับสมัครและสอบแข่งขัน
ข้อ 8. การเลือกสรรเจ้าหน้าที่  ถ้าคณะกรรมการกำหนดให้ประกาศรับสมัครและสอบแข่งขัน
ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
8.1 ประกาศรับสมัครทางสื่อที่เหมาะสม โดยให้ข้อมูลประกอบด้วย
8.1.1 ตำแหน่งและค่าตอบแทนขั้นต้น  และขั้นสูงสุด
8.1.2 คุณสมบัติของผู้สมัคร  และความถนัดพิเศษ
8.1.3 เอกสารประกอบการสมัคร
8.1.4 ปริมาณงาน  ลักษณะ  และขอบข่ายงานที่รับผิดชอบ
8.1.5 กำหนดระยะเวลาจ้าง  หรือขั้นตอนการจ้าง
8.1.6 กำหนดวันรับสมัคร  วันสอบ  และวันเริ่มทดลองงาน
8.1.7 กำหนดวิธีการสอบคัดเลือกและวิชาที่สอบ
8.2 ให้รับสมัครตามวัน   เวลา  และสถานที่ที่กำหนดไว้
8.3 ให้ทำการสอบ  ซึ่งปกติจะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ
8.3.1 สอบข้อเขียน  เพื่อพิจารณาความรู้พื้นฐานที่เหมาะสมกับงาน
8.3.2 สอบปฏิบัติ  หรือกิจกรรม  เพื่อพิจารณาทักษะหรือคุณลักษณะ
8.3.3 สอบสัมภาษณ์  เพื่อรับทราบข้อจำกัดและความพร้อมในการทำงาน
8.4 การประกาศผล  ให้ติดประกาศ หรือแจ้งผลสอบคัดเลือกให้แก่ผู้เข้าสอบทราบ แล้วแต่กรณี และกำหนดให้ผู้สอบผ่านมารายงานตัว
ข้อ 9. เงื่อนไขในการทดลองงานและข้อยกเว้น
9.1 การค้ำประกันให้เจ้าหน้าที่  ที่ได้รับการคัดเลือก นำเงินสดจำนวน 4,000 บาท  มาค้ำประกันในระหว่างทดลองงาน ทั้งนี้เพื่อประกันความเสียหายหรือละทิ้งงานของ เจ้าหน้าที่  ซึ่งสมาคมฯ จะคืนเงินประกันต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ผ่านการทดลองงานและ ปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่ประจำของสมาคมฯ   ไปแล้วหนึ่งสัปดาห์   ยกเว้นในกรณีที่ เจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ผ่านงานตามข้อ 9.2.5
หลักเกณฑ์การทดลองงาน
9.2.1 เจ้าหน้าที่ที่ทดลองงาน  จะได้รับการปฐมนิเทศจากกรรมการผู้รับผิดชอบ และเอกสารบรรยายลักษณะงานในหน้าที่ความรับผิดชอบของตน
9.2.2  ในระหว่างการปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ทดลองงานจะอยู่ในความดูแลของกรรมการผู้รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด
9.2.3 เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ทดลองงานครบ 60 วันแล้ว  ให้มีการประเมินผล  ถ้าสมาคมยังไม่พอใจในการปฏิบัติงานสามารถให้ทดลองงานต่อได้อีก 30 วัน  รวมเวลาทดลองงานไม่เกิน 90 วัน
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่  ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการบริหาร เป็นบุคคลที่มี  ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการทำงานมาแล้วตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไปคณะกรรมการบริหารอาจจะยกเว้นไม่ต้องให้มีการทดลองงานก็ได้
ระหว่างการทดลองงาน เจ้าหน้าที่จะได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือนตามที่สมาคม ประกาศไว้  ถ้าขาดหรือลาจะถูกตัดเงินเดือนตามอัตราส่วนเป็นรายวัน ถ้าปฏิบัติงาน เกินเวลาที่กำหนดจะได้รับเงินค่าล่วงเวลาตามอัตราส่วนของเงินเดือน
ระหว่างการทดลองงาน สมาคมอาจยกเลิกการทำงานของเจ้าหน้าที่ก่อนครบ 60 วัน ก็ได้  เมื่อเห็นว่าเจ้าหน้าที่คนนั้นมีคุณลักษณะไม่เหมาะสมกับงาน    เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ผ่านการทดลองงาน  และไม่ได้รับอนุญาตให้ทดลองงานต่อให้ถือว่าสถานภาพการทดลองงานของเจ้าหน้าที่สิ้นสุดลง ซึ่งสมาคมต้องจ่ายเงินค่า   ตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ตามจำนวนวันที่ได้ปฏิบัติงานจริง พร้อมกันนี้ต้องคืนเงิน   ค้ำประกันในระหว่างทดลองงานให้กับเจ้าหน้าที่ผู้นั้นด้วย  เว้นแต่ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทำความเสียหาย สมาคมฯ จะหักลบกลบหนี้ตามมูลค่าความเสียหายนั้นๆ
ข้อ 10. การบรรจุเจ้าหน้าที่  เจ้าหน้าที่ที่ผ่านการทดลองงานแล้วหรือเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการบริหาร ตามข้อ 9.3   สมาคมฯ จะบรรจุให้เป็นเจ้าหน้าที่ประจำ  พร้อมกับทำสัญญาจ้าง
งาน และหนังสือค้ำประกันการเข้าทำงาน  ตลอดจนมอบเอกสารบรรยายลักษณะงานใหม่ให้ ซึ่งเอกสาร
บรรยายลักษณะงานมีข้อมูลดังนี้
10.1 ชื่อ  นามสกุล   ของเจ้าหน้าที่
10.2 ตำแหน่ง
10.3 ผู้บังคับบัญชาโดยตรง  หรือนิเทศ
10.4 มีผลบังคับตั้งแต่
10.5 วันสิ้นสุด
10.6 หน้าที่และงานที่ต้องรับผิดชอบ
10.7 ผู้ร่วมงาน
10.8 ค่าตอบแทน
10.9 สิทธิและสวัสดิการ
10.10 ลายมือชื่อของนายก  หรือผู้ที่คณะกรรมการมอบหมาย
ข้อ 11. การพัฒนาประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่  สมาคมถือว่าการพัฒนาสมรรถภาพเจ้าหน้าที่
เป็นภารกิจสำคัญของคณะกรรมการ ซึ่งจะดำเนินการได้ 2 ทาง คือ
11.1 พัฒนาระหว่างปฏิบัติงาน  คือให้มีการนิเทศงานในทุกระดับพร้อมกับจัดให้
มีคู่มือการปฏิบัติงานทุกตำแหน่ง
11.2 พัฒนานอกเวลาปฏิบัติงาน  คือการจัดให้มีการฝึกอบรม การดูงาน การศึกษาต่อ
แล้วแต่กรณี
ข้อ 12. การประเมินผลงานเจ้าหน้าที่ หัวหน้างานหรือกรรมการผู้รับผิดชอบ  จะมีหน้าที่ติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำของสมาคมฯ  แล้วรายงานให้คณะกรรมการพิจารณาสั่งการต่อไป
เมื่อเจ้าหน้าที่ประจำไม่ผ่านการประเมินผลคณะกรรมการสามารถให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้ประเมินผลงานของตนอีกครั้งหนึ่ง  ถ้ายังไม่ผ่านการประเมินอีก คณะกรรมการอาจมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นทดลองงานใหม่ได้  ซึ่งในขณะที่เป็นเจ้าหน้าที่ทดลองงานจะมีสิทธิตามข้อ 9.2
ข้อ 13. การจัดสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่
13.1 ค่าตอบแทน เจ้าหน้าที่จะได้รับค่าตอบแทนเป็นรายวัน หรือรายเดือนตามที่ระบุไว้
ในเอกสารบรรยายลักษณะงานของแต่ละตำแหน่ง ซึ่งเงินเดือนจะรวมจ่ายในวันสุดท้ายของแต่ละเดือน กำหนดอัตราค่าตอบแทนจะอาศัยค่าแรงขั้นต่ำหรืออัตรา เงินเดือนข้าราชการพลเรือน  ตามประกาศของรัฐบาลหรือตามความเห็นของคณะกรรมการบริหาร (ตามประกาศของสมาคมเรื่องค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ )
13.2 ค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลา  หรือการทำงานในวันหยุด  เจ้าหน้าที่จะได้รับค่า
ตอบแทนพิเศษ เนื่องจากการทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด ตามที่ได้รับมอบ
หมาย หรือมีสิทธิหยุดงานชดเชยแทน ซึ่งการคิดค่าตอบแทนทำได้ดังนี้
-  การทำงานล่วงเวลาจะคำนวณโดยอัตราค่าจ้างหารด้วย 30 วันได้ผลลัพธ์เท่าใด
หารด้วย 8  แล้วคูณด้วย 1.5
-  การทำงานในวันหยุด   จะคำนวณได้จากอัตราค่าจ้างหารด้วย 30 วัน แล้วคูณด้วย 2
13.3 ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานนอกสถานที่เจ้าหน้าที่จะได้รับค่าใช้จ่ายและค่าตอบแทน
พิเศษเมื่อได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ทำการของสมาคม ทั้งใน
กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งสมาคมจะต้องจัดเตรียมค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ค่าที่ พักและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นให้แก่เจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามข้อบังคับ
ของสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ และระเบียบว่าด้วย การบริหาร
กิจการสมาคม พ.ศ. 2553
13.4 กำหนดวัน เวลาทำการ  และวันหยุดของสมาคมฯ
13.4.1  วันทำการของสมาคม จะเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ ยกเว้นวันนักขัตฤกษ์
13.4.2  วันหยุดของสมาคม ให้วันอาทิตย์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์
- ส่วนวันนักขัตฤกษ์ให้ถือว่าเป็นวันหยุดประจำปี ซึ่งสมาคมจะต้องแจ้งไว้ในประกาศวันหยุดประจำปีของปีนั้น ๆ ทั้งนี้ต้อง ไม่น้อยกว่า 13 วัน
- สำหรับวันหยุดที่ทางราชการประกาศให้เป็นวันหยุดภายหลัง เนื่องในโอกาสสำคัญหรือมีความจำเป็นอื่นๆให้อยู่ในดุลพินิจของ คณะกรรมการ
13.4.3 เมื่อมีความจำเป็นกรรมการอาจพิจารณา  ให้เปิดทำการในวันหยุดประจำสัปดาห์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ เป็นกรณีพิเศษก็ได้ โดยให้จ่ายค่าแรงและค่าล่วงเวลาตามที่กฎหมายแรงงานบัญญัติไว้
เวลาทำงานปกติ -  วันจันทร์ถึงวันเสาร์ เปิดทำการตั้งแต่ 0 9.00 น. ถึง 17.00  น.
13.5 การทำประกันสังคม  เจ้าหน้าที่ที่ได้บรรจุแล้วจะต้องได้รับการประกันสังคม และได้
รับสวัสดิการตามระเบียบว่าด้วยการประกันสังคม ซึ่งสมาคมจะหักค่าประกันสังคม
ในส่วนของลูกจ้าง ร้อยละ 5 และสมาคมจะสมทบในส่วนของนายจ้างร้อยละ 5 แล้ว
นำส่งสำนักงานประกันสังคมทุกเดือน หากในกรณีที่รัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย สมาคมฯสามารถพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล
13.6 สวัสดิการพิเศษของสมาคม
13.6.1 ค่ารักษาพยาบาล  เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานครบ 1 ปี มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล
ตามใบเสร็จรับเงินของโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลที่เชื่อถือได้ ซึ่งไม่ซ้ำ
ซ้อนกับที่เบิกได้จากกองทุนประกันสังคมรวมไม่เกินปีละ 2,000 บาท แต่ต้อง
ไม่ใช่ในเรื่องค่าทำแว่นและเลนส์ หรือเรื่องเกี่ยวกับฟัน การรักษาสิว
การศัลยกรรมตกแต่งเพื่อความสวยงาม กรณีป่วยหนักต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง
คณะกรรมการอาจพิจารณาช่วยเหลือตามที่เห็นสมควร
13.7 เงินสะสม   เจ้าหน้าที่ที่ได้บรรจุแล้ว   จะได้รับสวัสดิการเงินสะสมโดยเจ้าหน้าที่
มีหน้าที่จ่ายเงินสะสมร้อยละ 5 ของเงินเดือนแต่ไม่เกินเดือนละ 500 บาท ซึ่ง
สมาคมจะสมทบในจำนวนเท่ากัน เมื่อเจ้าหน้าที่ลาออกจึงจะสามารถเบิกเงินสะสม
ดังกล่าวโดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
13.7.1 ถ้าทำงานไม่ถึง 3 ปี สามารถเบิกเงินสะสมได้เฉพาะในส่วนของเจ้าหน้าที่
13.7.2 ถ้าทำงานเกิน 3 ปี  แต่ไม่ถึง 4 ปี  จะได้รับส่วนของสมาคมร้อยละ 50  ด้วย
13.7.3 ถ้าทำงานเกิน 4 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี  จะได้รับส่วนของสมาคมร้อยละ 75 ด้วย
13.7.4 ถ้าทำงานเกิน 5 ปี  จะได้รับส่วนของสมาคมทั้งหมดด้วย
13.7.5 ในกรณีที่สมาคมยกเลิกกิจการเจ้าหน้าที่จะได้รับในส่วนของสมาคม ทั้งหมดไม่ว่าจะทำงานได้กี่ปีก็ตาม
13.7.6 ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เสียชีวิต  สมาคมจะเบิกเงินสะสมตามสิทธิดังกล่าวมอบให้ญาติหรือผู้รับผลประโยชน์  ตามที่เจ้าหน้าที่ระบุไว้ในหนังสือ
13.7.7 หากในวันที่เจ้าหน้าที่ลาออก  ยังมีหนี้สินของสมาคมติดค้างอยู่สมาคมจะหักหนี้สินจากเงินสะสมและจะจ่ายส่วนที่ยังเหลือให้  (ถ้ามี)
13.7.8 เมื่อเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกิน  3  ปี   สามารถขอเบิกเงินสะสมในส่วนของ ตนเองได้  โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการถือว่าการสะสมเป็นอันสิ้นสุด
13.8 เครื่องแบบของเจ้าหน้าที่  เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานครบรอบ 1 ปีจะได้รับเงินสนับสนุนค่าเครื่องแบบเป็นรายปี ปีละ  2  ชุด  ชุดละ  1,500  บาท  หรือในกรณีที่เป็นการสมควรและจำเป็นอย่างยิ่งคณะกรรมการอาจพิจารณาอนุมัติเงินสวัสดิการค่าเครื่องแบบ จำนวน 1 ชุดให้กับเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติงานยังไม่ครบ 1 ปี ก่อนก็ได้
การพักร้อนประจำปี  เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานครบรอบตามที่สมาคมกำหนดสามารถขอ  ลาพักร้อนประจำปีได้โดยมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1. ถ้าปฏิบัติงานครบรอบ 1 ปี สามารถลาพักร้อนได้ไม่เกิน 7 วัน
2. ถ้าปฏิบัติงานครบรอบ 2 ปี สามารถลาพักร้อนได้ไม่เกิน 8 วัน
3. ถ้าปฏิบัติงานครบรอบ 3 ปี สามารถลาพักร้อนได้ไม่เกิน 9 วัน
4. ถ้าปฏิบัติงานครบรอบตั้งแต่ 4 ปีขึ้นปี สามารถลาพักร้อนได้ไม่เกิน 10 วัน
5. ถ้าปฏิบัติงานครบรอบตั้งแต่ 5 ปีขึ้นปี สามารถลาพักร้อนได้ไม่เกิน 15วัน
- ในการลาพักร้อนประจำปีให้มีสิทธิ์ลาได้เฉพาะปีนั้นๆ ห้ามมิให้นำวันลาพักร้อนไปรวมกับวันลาพักร้อนในปีต่อไป และมิให้ลาติดต่อกันเกิน 2 วัน
13.10 การลาป่วย  เจ้าหน้าที่ที่ลาป่วยต้องนำใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐานประกอบการลาด้วยทุกครั้ง ซึ่งในปีหนึ่ง ๆ จะลาได้ไม่เกิน 30 วัน  ในกรณีที่ลาป่วยเกิน 3 วันหรือถ้ามีเหตุสุดวิสัยให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการบริหาร
13.11 การลากิจ
13.11.1 เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการบรรจุแล้ว  มีสิทธิลากิจได้ไม่เกิน 7  วันทำการต่อปี  และต้องยื่นใบลาล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน เว้นแต่กรณีฉุกเฉินให้อยู่ในดุลพินิจของเลขานุการ โดยความเห็นชอบของนายกสมาคมฯ
การลากิจระหว่างเวลาทำการ เป็นเวลาสั้น ๆ  แต่ถ้ารวมกันได้   6 ชั่วโมง  ถือว่าเป็นวันลา 1 วัน ของเดือนนั้นๆ
13.12 การลาคลอด  เจ้าหน้าที่สามารถลาคลอดได้ก่อนและหลังการคลอดรวมแล้ว ไม่เกิน 90 วัน แต่ต้องยื่นใบลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วันซึ่งในระหว่างลาคลอดสมาคมจะจ่ายเงินเดือนให้ครึ่งหนึ่งของอัตราเงินเดือนที่ได้รับ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 3 เดือน
13.13 การลาบวช  หรือการประกอบพิธีฮัจน์  เจ้าหน้าที่สามารถลาบวชหรือเพื่อประกอบพิธีฮัจน์ได้  โดยยื่นใบลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ส่วนจำนวนวันลาให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการ
13.14 การลาศึกษาต่อ  เจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับสมาคมติดต่อกันมากกว่า 3  ปี สามารถลาศึกษา
ต่อได้ การอนุญาตลาศึกษาต่อทั้งที่ขอรับทุนจากสมาคมหรือไม่ขอรับทุนจากสมาคมให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการ
ข้อ 14. ข้อกำหนดในการการปฏิบัติงาน และบทลงโทษ
14.1 ข้อกำหนดในการปฏิบัติงาน
14.1.1 การขาดงาน หมายถึง การไม่มาทำงานโดยไม่แจ้งกรรมการผู้รับผิดชอบทราบ   ถือว่ามีความผิดทางวินัยจะมีผลในการถูกตัดเงินเดือนหรือการพิจารณาความดีความชอบประจำปี แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ขาดงานติดต่อกันเกิน 5 วัน หรือขาดงานในรอบ
1 ปี แต่รวมกันแล้วเกิน 10 วัน จะมีผลให้พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่
14.1.2 การเข้าทำงาน
-  การเข้าทำงานหลังจากเวลาที่กำหนด เกินกว่า 10 นาที ถือว่ามาทำงานช้า
-  การเข้าทำงานหลังจากเวลาที่กำหนด 15 นาที ถือว่ามาทำงานสาย
-  การมาทำงานช้า 2 วัน ถือว่ามาทำงานสาย 1 วัน
-  การมาทำงานสาย 6 วัน เท่ากับการขาดงาน 1 วัน
-  การออกจากที่ทำงานก่อนเวลาที่กำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้รับผิดชอบเท่ากับ
ขาดงานในวันนั้น
14.2 บทลงโทษ
-  การเข้าทำงานสายเกินกว่าเวลาที่กำหนดตั้งแต่ 1 ชั่วโมงขึ้นไป กรรมการอาจสั่งให้เจ้า
หน้าที่ปฏิบัติงานชดเชยให้ครบตามเวลาในแต่ละวันก็ได้
-  การขาดงาน หรือหยุดงาน โดยไม่แจ้งกรรมการผู้รับผิดชอบทราบ ต้องถูกหัก
เงินเดือน ตามจำนวนวันที่ขาดหรือหยุดงานแล้วคูณด้วย 1.5
ข้อ 15. การลาออก  เจ้าหน้าที่ที่จะขอลาออกต้องยื่นหนังสือลาออกต่อกรรมการผู้รับผิดชอบล่วงหน้า 30 วัน ซึ่งการลาออกจะมีผลต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ติดค้างกับสมาคม และได้รับ
ความเห็นชอบจากคณะกรรมการแล้ว ซึ่งในระหว่างการปฏิบัติงานในเดือนสุดท้ายที่ได้ขอลาออกแล้ว เจ้าหน้าที่จะไม่มีสิทธิ์ลากิจตามข้อ 13.11 หรือลาพักร้อนประจำปีตามข้อ 13.9
ข้อ 16. ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับระเบียบนี้ให้คณะกรรมการเป็นผู้วินิจฉัยและให้ถือว่าคำ
วินิจฉัยของคณะกรรมการถือเป็นที่สุด
ข้อ 17. ให้นายกสมาคม  เป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้
ข้อ 18. การแก้ไขเปลี่ยนแปลง  เพิ่มเติมระเบียบนี้  จะกระทำได้โดยมติ 2 ใน 3 ของคณะกรรมการบริหารที่เข้าร่วมประชุม
ประกาศ  ณ วันที่  10 มกราคม  พ.ศ. 2553
ลงชื่อ
( นายวิรัช     สุขเจริญ )
นายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ